รัฐสภาอินโดนีเซียผ่านร่างกฎหมายการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่

Release Date : 01-02-2022 00:00:00
รัฐสภาอินโดนีเซียผ่านร่างกฎหมายการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่

          เมื่อ ๑๘ ม.ค.๖๕ รัฐสภา อซ.ได้ผ่านร่างกฎหมายการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ โดย ปธน. Joko Widodo ได้ประกาศว่า จะย้ายเมืองหลวงของประเทศจากกรุงจาการ์ตาไปยังพื้นที่บริเวณ จ. Kalimantan Isran Noor ใกล้กับเมืองบาลิกปาปันและซามารินดา  ห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๒,๐๐๐ กม. (๑,๒๕๐ ไมล์)  ในพื้นที่ระหว่างเขตปกครองของ North Penjam Paser และ Kutai Kartanegara จ.Kalimantan บนเกาะบอร์เนียว มีประชาชนประมาณ ๙๐๐,๐๐๐ คน เป็นพื้นที่ของรัฐขนาดประมาณ ๑๘๐,๐๐๐ เฮกตาร์  โดยเมืองหลวงแห่งใหม่นี้ได้รับการคัดเลือกชื่อว่า Nusantara เป็นชื่อภาษาชวาแปลว่า “หมู่เกาะ”  จากจำนวนชื่อที่เสนอมากกว่า ๘๐ ชื่อ  ทั้งนี้ โครงการฯ  นี้มีกำหนดเริ่มต้นในปี พ.ศ.๒๕๖๗ มีมูลค่า ๓๒.๗๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรัฐบาลจะลงทุน ๑๙ % ส่วนที่เหลือมาจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้าง สถานที่ราชการ และที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการประมาณ ๑.๕ ล้านคน

          สำหรับกฎหมายฉบับนี้มีชื่อว่า กฎหมายว่าด้วยเมืองหลวงของรัฐ (Rancangan Undang-Undang Ibu Kota Negara; RUU IKN) ซึ่งมีบทบัญญัติกล่าวถึง ตำแหน่ง รูปแบบ และโครงสร้างการปกครองของเมืองหลวงใหม่  รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยงาน Nusantara IKN Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกระทรวงเพื่อวางระเบียบและกำกับดูแลการย้ายเมืองหลวงดังกล่าว โดยหัวหน้าและรองหัวหน้าหน่วยงานนี้  จะถูกแต่งตั้งโดยตรงจาก ปธน. ภายใน ๑๘ เม.ย.๖๕  มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี ปธน. สามารถแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อได้ และสามารถเปลี่ยนตัวได้ก่อนสิ้นสุดวาระ

          อนึ่ง ปธน. Widodoได้เคยประกาศแนวคิดการย้ายเมืองหลวงไปยังกาลิมันตันอย่างเป็นทางการเมื่อ ๑๖ ส.ค.๖๒ แต่แผนและโครงการได้มีความล่าช้าและเลื่อนออกไป เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19  โดย ปธน.ฯ ได้กล่าวว่า “เมืองหลวงแห่งใหม่ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ประจำชาติ แต่ยังเป็นตัวแทนของความก้าวหน้าและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย จาการ์ตาเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก โดยมีประชากรมากกว่า ๑๐ ล้านคน และอาจเพิ่มขึ้นเป็น ๓๐ ล้านคน เมื่อนับจำนวนผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบ  ภาระของจาการ์ตาและเกาะชวานั้นหนักเกินไปแล้ว  เกาะชวามีประชากรถึง ๕๔% ของประชากร ๒๖๐ ล้านคน และสร้างรายได้ ๕๘% ของ GDP อซ. รวมถึงกรุงจาการ์ตามีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมและกำลังจมเนื่องจากการทรุดตัวจากการใช้น้ำบาดาล ปัญหาน้ำเสียของจาการ์ตามีเพียง ๔%เท่านั้นที่ได้รับการบำบัด  แม่น้ำและน้ำบาดาลจึงมีการปนเปื้อน  ความแออัดและปัญหาดังกล่าวฯ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ประมาณ ๖.๕ พันล้านดอลลาร์ต่อปี”  อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แสดงความกังวลว่า การสร้างเมืองหลวงใหม่ในเกาะบอร์เนียวอาจส่งผลกระทบต่อป่าฝน และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น อุรังอุตัง กวางป่า หมีแดด และลิงจมูกยาว  รวมถึงอาจมีมลพิษที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการทำเหมืองถ่านหิน และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนกว่า ๑๖ ล้านคน รวมทั้งแผนและโครงการนี้มีการจัดการรับฟังความเห็นสาธารณะอย่างจำกัด ทั้งนี้ โครงการการย้ายเมืองหลวงของ อซ. กลับได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐซาบาห์และซาราวัก ของมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว  เนื่องจากมีพื้นที่ใกล้เคียงกาลิมันตันซึ่งอาจได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว

พื้นที่ที่คาดว่าจะมีการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ของ อซ.